ข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือเดินทางไทยอิเล็กทรอนิกส์ (Thai e-Passport)

ข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือเดินทางไทยอิเล็กทรอนิกส์ (Thai e-Passport)

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ก.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 ต.ค. 2566

| 8,369 view

หนังสือเดินทางไทย

กระทรวงการต่างประเทศได้นำระบบหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Passport) มาใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2548 โดยหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์มีอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปี และไม่สามารถต่ออายุในเล่มเดิมได้ เมื่อหนังสือเดินทางหมดอายุจะต้องขอเล่มใหม่

การขอหนังสือเดินทางบุคคลทั่วไป 

1. หนังสือเดินทางบุคคลทั่วไป (อายุ 5 ปี หรือ 10 ปี) สำหรับบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ (อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป)

ต้องมายื่นคำร้องด้วยตนเอง พร้อมหลักฐาน ดังนี้

  1. บัตรประจำตัวประชาชน
  2. หนังสือเดินทางเล่มเดิม
  3. ทะเบียนบ้านในประเทศไทย (ถ้ามี)

**สำหรับบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแต่ยังไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน (ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก) จะไม่สามารถขอทำหนังสือเดินทางเล่มแรกในต่างประเทศเป็นประเภทหนังสือเดินทางทั่วไป อายุ 10 ปี ได้ แต่ยังสามารถขอทำหนังสือเดินทางบุคคลทั่วไป อายุ 5 ปี ได้  โดยต้องเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านก่อนจึงสามารถขอทำหนังสือเดินทางเล่มถัดไปอายุ 10 ปี 

2. หนังสือเดินทางบุคคลทั่วไป (อายุ 5 ปี) สำหรับบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์)

ผู้ร้องต้องมายื่นคำร้องด้วยตนเองพร้อมหลักฐานและวิธีการ ดังนี้

  1. สูติบัตรที่ทางราชการรับรองสําหรับผู้อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องมีบัตรประจําตัวประชาชน หรือบัตรประจําตัวประชาชน สําหรับผู้มีอายุอยู่ในเกณฑ์ต้องมีบัตรประจําตัวประชาชน (หากเด็กเกิดในแคนาดาและยังไม่มีสูติบัตรไทย โปรดติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อแจ้งการเกิดและขอสูติบัตรไทยก่อน)
  2. หนังสือเดินทางฉบับเดิม (ถ้ามี)
  3. ทะเบียนบ้านในประเทศไทย (ถ้ามี)
  4. ให้บิดาและมารดา หรือผู้มีอํานาจปกครองมาแสดงตนพร้อมผู้ร้องขอ เพื่อร่วมลงนามในสัญญายินยอมชดใช้ค่าเสียหายสําหรับผู้จะเดินทางไปต่างประเทศในแบบคําร้อง
  5. บิดามารดา หรือผู้มีอํานาจปกครองตามข้อ 4 ต้องแสดงบัตรประจําตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทาง และหลักฐานแสดงความเกี่ยวพันและการมีอํานาจปกครองผู้ร้องต่อเจ้าพนักงาน
  6. กรณีผู้มีอํานาจปกครองคือบิดาและมารดา ให้บิดาและมารดามาแสดงตนพร้อมกัน ถ้าบิดาและมารดามาแสดงตนพร้อมกันไม่ได้ ให้ผู้ที่ไม่มาทําเป็นหนังสือแสดงความยินยอมตามเงื่อนไขและแบบวิธีที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยกำหนด
  7. กรณีบิดา/มารดา หรือผู้มีอำนาจปกครองอยู่ในประเทศไทยสามารถลงนามให้ความยินยอมได้ที่ กองหนังสือเดินทางกรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ หรือติดต่อทำหนังสือยินยอมได้ที่อำเภอ/เขต หรือหากอยู่ในประเทศอื่น ให้ไปติดต่อทำหนังสือยินยอมได้ที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลในประเทศที่บิดามารดาหรือผู้มีอำนาจปกครองพำนักอยู่
  8. หากชื่อนามสกุลบิดา มารดาในสูติบัตรไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน ให้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ หรือนามสกุลที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย ในกรณีที่มารดาหย่า และจดทะเบียนสมรสใหม่ และใช้นามสกุลใหม่ตามสามีให้นำหลักฐานการหย่า(ใบสำคัญการหย่า) และการสมรส(ใบสำคัญการสมรส) ที่เป็นต้นฉบับมาแสดงด้วย
  9. เอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็น อาทิ หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรอง บุตรหรือรับบุตรบุญธรรม บันทึกการหย่า ซึ่งมีข้อความระบุให้บุตรอยู่ในความดูแลของบิดา หรือมารดา  มรณบัตร (กรณีบิดา/มารดาเสียชีวิต) เป็นต้น
  10. กรณีบิดา มารดาผู้เยาว์เสียชีวิต / บิดาหรือมารดาผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติมิได้จดทะเบียนสมรสและ ไม่สามารถตามหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอมได้ /บิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสแต่บุตรอยู่ในความดูแลของบิดาฝ่ายเดียวมาตลอด และไม่สามารถตามหามารดาได้ ให้นำคำสั่งศาลซึ่งระบุชื่อผู้มีอำนาจปกครอง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทางของผู้มีอำนาจปกครองมาแสดง
  11. บิดามารดาผู้ให้กำเนิดผู้เยาว์ที่ได้ยกผู้เยาว์ให้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่นแล้ว ไม่สามารถลงนาม แทนบิดามารดาบุญธรรมได้ต้องให้บิดา มารดาบุญธรรมเป็นผู้ลงนาม

- สามารถยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทางได้ ณ ที่ทำการของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ในวันราชการ ทั้งนี้ กรุณาส่งอีเมล์นัดหมายวันและเวลาล่วงหน้า ได้ที่ [email protected]

- เมื่อเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้บันทึกข้อมูลของท่านแล้ว จะดำเนินการส่งข้อมูลของท่านไปที่กระทรวงการต่างประเทศที่กรุงเทพฯ เพื่อผลิตหนังสือเดินทาง จากนั้นกระทรวงการต่างประเทศจะส่งหนังสือเดินทางของท่านกลับมาที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เจ้าหน้าที่จะได้ติดต่อท่านให้มารับเล่มต่อไป ทั้งนี้ ท่านสามารถขอให้สถานเอกอัครราชทูตจัดส่งหนังสือเดินทางให้ทางไปรษณีย์ได้ โดยแสดงความจำนงเมื่อยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทาง โดยท่านจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดส่งทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียน 

หมายเหตุ

- กรณีผู้ขอหนังสือเดินทางมีชื่อในทะเบียนบ้านที่ประเทศไทย แล้วถูกจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านไปอยู่ทะเบียนบ้านกลาง จะไม่สามารถขอหนังสือเดินทางได้ จนกว่าผู้ขอหนังสือเดินทางจะไปดำเนินการย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านที่ประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว

- ข้อมูลส่วนตัวในหนังสือเดินทางจะอ้างอิงตามข้อมูลในทะเบียนราษฎร์ของผู้ขอหนังสือเดินทางที่ประเทศไทย ดังนั้น ชื่อ - สกุลในหนังสือเดินทางเล่มใหม่จะตรงกับหลักฐานทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชน โดยจะไม่ขึ้นอยู่กับหนังสือเดินทางเล่มเดิม

- หากผู้ยื่นคำร้องต้องการให้นามสกุลในหนังสือเดินทางเป็นนามสกุลหลังการสมรส/หย่า จะต้องแก้ไขข้อมูลในทะเบียนราษฎร์ก่อนที่จะขอทำหนังสือเดินทาง

 

บันทึกรายการในหนังสือเดินทาง (Endorsement)

หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อ – นามสกุล หรือข้อมูลบุคคลได้ เนื่องจากตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) การเขียนข้อมูลในไมโครชิพทำได้เพียงครั้งเดียวและไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ดี ผู้ร้องสามารถบันทึกแก้ไขในเล่มหนังสือเดินทางที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่จัดเก็บในไมโครชิพได้ 2 กรณี ดังนี้

  1. การเปลี่ยนแปลงลายเซ็น
  2. การบันทึกรับรองการถือหนังสือเดินทางเล่มเดิม เนื่องจากเล่มเดิมมีวีซ่าที่ยังมีอายุใช้งานแทนการผนวกเล่ม

หนังสือเดินทางสูญหาย

ต้องไปแจ้งความหนังสือเดินทางสูญหายที่สถานีตำรวจ และนำใบรับแจ้งความดังกล่าวนั้นพร้อมเอกสารแสดงการมีสัญชาติไทยของตนหรือเอกสารทะเบียนราษฎรที่มีอยู่ เช่น สำเนาหนังสือเดินทางสูญหาย (ถ้ามี) บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน ฯลฯ มาติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ด้วยตนเอง เพื่อขอหนังสือเดินทางเล่มใหม่ ทั้งนี้ กรุณาส่งอีเมล์นัดหมายวันและเวลาล่วงหน้า ได้ที่ [email protected]

ในกรณีที่ผู้ทำหนังสือเดินทางสูญหายต้องการเดินทางกลับประเทศไทยเป็นการเร่งด่วน ไม่สามารถรอรับหนังสือเดินทางได้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จะออกเอกสารเดินทางฉุกเฉิน (Emergency Travel Document) (ไม่มีค่าธรรมเนียม) เพื่อใช้เดินทางกลับประเทศไทยเป็นการเฉพาะ

การขอหนังสือเดินทางให้กับบุตรที่อยู่ประเทศไทย

กรณีที่บิดาและ/หรือมารดา หรือผู้มีอำนาจปกครองไม่สามารถเดินทางไปประเทศไทยเพื่อดำเนินการขอหนังสือเดินทางให้กับบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะที่อยู่ในประเทศไทย สามารถยื่นคำร้อง เพื่อจัดทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทน และทำหนังสือยินยอมให้บุตรเดินทางไปต่างประเทศได้ โดยมายื่นเรื่องด้วยตนเองที่สถานเอกอัครราชทูตฯ พร้อมหลักฐาน ดังนี้

  1. หนังสือเดินทางไทย
  2. บัตรประจำตัวประชาชนไทย
  3. ทะเบียนสมรส (ของไทยหรือแคนาดาเเล้วเเต่กรณี) หรือทะเบียนหย่า หรือหนังสือปกครองบุตร (ป.ค. 14)
  4. สูติบัตรไทย
  5. หากชื่อนามสกุลบิดา-มารดาในสูติบัตรไม่ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน ให้นำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลที่เป็นต้นฉบับมาแสดง

ค่าธรรมเนียมและระยะเวลาในการดำเนินการ

- โปรดตรวจสอบอัตราค่าธรรมเนียม (คลิกที่นี่)

- สามารถยื่นคำร้องได้ ณ ที่ทำการของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ในวันราชการ โดยส่งอีเมล์นัดหมายวันและเวลาล่วงหน้า ได้ที่ [email protected]

- เมื่อท่านได้รับเอกสารแล้ว ขอให้ส่งให้ญาติที่ประเทศไทย เพื่อใช้ประกอบในการขอหนังสือเดินทางที่กรมการกงสุลหรือสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวต่อไป