เอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ได้เดินทางไปเยือนนครแฮลิแฟกซ์ รัฐโนวาสโกเชีย

เอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ได้เดินทางไปเยือนนครแฮลิแฟกซ์ รัฐโนวาสโกเชีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 มี.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 447 view

เมื่อวันที่ 14 -16 กันยายน 2561 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ได้เดินทางไปเยือนนครแฮลิแฟกซ์ รัฐโนวาสโกเชีย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ระหว่างไทย – แคนาดา เพื่อเป็นการสานต่อเป้าหมายด้าน วทน. โดย ออท. ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแด่อาจารย์จาก ม.Dalhousie ได้แก่ Dr. Robert Anderson, Department of Microbiology & Immunology, Faculty of Medicine และ Dr. Raza Abidi, Director of Health Informatics, Faculty of Computer Science เพื่อหารือในรายละเอียดดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

  1. การสานต่อความสัมพันธ์ด้านการวิจัยทางการแพทย์

Dr. Anderson ซึ่งมีงานวิจัยร่วมกับอาจารย์จาก ม.ขอนแก่น ม.ธรรมศาสตร์ และ ม. มหิดล

มากว่า 20 ปี เกี่ยวกับโรคไวรัสในระบบทางเดินหายใจ (respiratory syncytial virus) และโรคไข้ดิน (Melioidosis) ที่พบมากในภาคอีสาน  ทั้งด้านการรักษาและการผลิตวัคซีนป้องกัน  เล่าว่า ม. Dalhousie และ ม. ขอนแก่น ได้มีความร่วมมือมายาวนาน รวมถึงมีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระชับความร่วมมือด้านการวิจัยนอกจากนี้ Dr. Anderson ยังได้ช่วยให้แพทย์ไทยได้มาดูงานที่ ม. Dalhousie ภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกของไทย โดยรับเป็น supervisor ของโครงการ ล่าสุด Dr. Anderson ยังเล่าว่า ตนเพิ่งได้เดินทางไปสัมมนาที่ไทยเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ โภชนศาสตร์ และโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เพื่อหาแนวคิดและขยายขอบเขตความร่วมมือให้มากยิ่งขึ้น

ออท. กล่าวว่าตนตั้งใจที่จะสานต่อและพัฒนาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นนี้ให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีพื้นฐานความร่วมมือที่มั่นคงอยู่แล้ว และอยากเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากความร่วมมือในการวิจัยนี้ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคม

Dr. Anderson กล่าวว่าแม้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันศึกษาและวิจัยของแคนาดากับไทยจะดำเนินไปด้วยดี แต่ยังมีอุปสรรคด้านค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงในกระบวนการการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกก่อนที่จะสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ โดยตนหวังที่จะพัฒนาวัคซีนประเภทใหม่ๆ ให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เช่นวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) เป็นต้น

ออท. กล่าวว่าจะพิจารณาหาลู่ทางการจัดหาเงินลงทุนในการทดลองทางคลินิก และสรรหาภาค

ธุรกิจไทยให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการการผลิตในลักษณะ joint venture เพื่อให้ได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย

  1. การพัฒนาความร่วมมือจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้าน IT ในการดูแลผู้ป่วย

Dr. Abidi เป็นผู้มีประสบการณ์ในด้าน IT และด้านการแพทย์ จึงสามารถนำองค์ความรู้จากทั้งสอง

ศาสตร์มาผสานให้เกิดประโยชน์  โดยการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการดูแลผู้ป่วย เพื่อสร้างฐานข้อมูล Big data และการพัฒนา application การดูแลสุขภาพผ่านโทรศัพท์มือถือ การพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยให้แพทย์หาวิธีดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด รวมทั้ง ยังช่วยให้ผู้ใช้สามารถป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังเช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและโภชนาการ

Dr. Abidi ยังกล่าวถึงแนวโน้มการรักษาในปัจจุบันในลักษณะการแพทย์ส่วนบุคคล (personalized

medicine) คือการเลือกการรักษาทางการแพทย์และการให้ยาในปริมาณที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแบบจำเพาะต่อบุคคล เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด และตั้งเป้าหมายที่จะร่วมทำงานกับภาคเอกชนเกี่ยวกับ Big data

ออท. กล่าวว่าตนมีความสนใจเกี่ยวกับการทำธุรกิจแรกเริ่ม (Start up) และการนำสินค้า/นวัตกรรมออกสู่ตลาด (Commercialization) และจะพยายามหาช่องทางเชื่อมโยงเป้าหมายการวิจัยของอาจารย์ทั้งสองกับหน่วยงาน/ภาคเอกชนที่ไทย เพื่อให้เกิดผลผลิตอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ อาจารย์ทั้งสองได้เชิญ ออท. เข้าชมห้องทดลองของ ม. Dalhousie เพื่อได้เห็นการทำงานภาคปฏิบัติในโอกาสหน้าต่อไปด้วย ซึ่ง สอท. จะประสานในรายละเอียดต่อไป